วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
(9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2414) พระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้นราชสกุลสนิทวงศ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท มีนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายนวม [note 1] ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ ธิดาท่านขรัวยายทองอิน เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ. 1170 ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351[1] ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นตามแบบฉบับของราชสำนักและทรงผนวชเป็นสามเณร ได้รับการศึกษาในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านอักษรศาสตร์ ทั้งอักขรวิธีภาษาไทย ขอม และมคธ รวมทั้งวรรณคดี วิชาโบราณคดีและราชประเพณี[2]


ต่อมาทรงเข้ารับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำกับกรมหมอหลวง และทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน [1] โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นวงศาสนิท [3] เมื่อครั้นปี พ.ศ. 2392 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภ ถึงความเสื่อมโทรมของภาษาไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้านวม ทรงแต่งตำราภาษาไทยขึ้นใหม่ เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทย พระนิพนธ์เรื่อง “จินดามณี เล่ม 2” ซึ่งทรงดัดแปลงจากตำราเดิมสมัยอยุธยา อธิบายหลักเกณฑ์ภาษาไทยให้เข้าใจง่ายกว่าเดิม[2] ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงเป็นเจ้านายหนึ่งในสี่พระองค์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหมายจะให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ [1]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันพุธ เดือน 10 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะเมียโทศก ตรงกับวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2414 พระชันษา 63 พรรษา พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2414 [4]

ในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ในโครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก ประจำปี 2551-2552 ในวาระครบรอบ 200 ปีของการประสูติ องค์การยูเนสโกได้มีมติรับรองในการประชุมเมื่อวันที่ 18-23 ตุลาคม 2550 ที่กรุงปารีส [5]


ในวาระแห่งวันคล้ายวันประสูติครบ 200 ปีของพระองค์ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขา
ปราชญ์และกวี (Scholar and Poet) ประจำปี พ.ศ. 2551 - 2552 และเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการศึกษาและวรรณกรรม การแพทย์และการสาธารณสุข และการต่างประเทศ
พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ด้านการเมืองการปกครอง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตกและชาวตะวันตกเป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายไทยร่วมกับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคในการเจรจาทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตก ที่สำคัญได้แก่ สนธิสัญญาเบาว์ริง ทรงดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยความประนีประนอมและผ่อนปรน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปด้วยดี

2. ด้านการแพทย์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงนิพนธ์ "ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท เล่ม 1 และเล่ม 2" นับเป็นตำราสมุนไพรไทยเล่มแรกของไทยที่มีการจำแนกสรรพคุณของสมุนไพรตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก ทรงเรียนรู้ในวิชาการแพทย์แผนตะวันตก ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายประกาศนียบัตรและทรงได้รับการทูลเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

3. ด้านวรรณกรรม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระนิพนธ์มีหลากหลายรูปแบบทั้งสาระและการบันเทิง เช่น หนังสือแบบเรียนจินดามณี เล่ม 2 และงานตรวจสอบชำระเรื่องพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เรื่องนิราศพระประธม เพลงยาวสามช

โคลงนิราศพระประธม
พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์นิราศนี้ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระชนม์ ๒๖ พรรษา เวลานั้นยังทรงพระยศเป็นกรมหมื่น เสด็จอยู่วังในคลองตลาด ซึ่งเรียกตามตำนานวังเก่าว่าวังท้ายหับเผยวังที่ ๓ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จย้ายไปอยู่วังริมแม่น้ำเจ้าพระยาใต้วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นวังเดิมของสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระราชทานบวรราชาภิเษกเสด็จย้ายจากพระราชวังเดิม (ธนบุรี) เข้าไปประทับในพระราชวังบวรแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทเสด็จย้ายไปอยู่พระราชวังเดิม ได้เสด็จอยู่ที่นั้นต่อมาจนสิ้นพระชนม์


ผู้อ่านโคลงนิราศนี้ ถ้ายังมิได้เห็นมาก่อนแล้ว ก็คงจะเห็นเหมือนกันหมดในบัดนี้ว่า กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงพระปรีชาในเชิงกวีเป็นอันมาก นิราศนี้นับว่าเป็นกาพย์กลอนรุ่นแรกที่ทรงแต่ง ก่อนหน้านั้นคงจะได้ทรงแต่งแต่สั้น ๆ เป็นท่อนเล็กท่อนน้อยมามากแล้ว แต่หากไม่เป็นล่ำเป็นสันจึ่งไม่มีเหลืออยู่ โคลงจินดามณีซึ่งเป็นหนังสือสำคัญอยู่อย่างหนึ่งในกาพย์กลอนไทยนั้น ทรงแต่งภายหลังนิราศนี้ราว ๑๕ ปี


การแต่งนิราศนั้น แต่ก่อนมาไม่ว่าใครแต่ง คงจะเดิรความทำนองเดียวกันแทบทั้งนั้น ขึ้นต้นยอพระเกียรติ์พระเจ้าแผ่นดิน แล้วปรารภไปทางไกล กล่าวละห้อยละเหี่ยเป็นห่วงเมีย บางคนแสดงวิตกว่าเมียอยู่ข้างหลังจะไม่รักษาสัตย์ต่อผัว ที่กล่าวเช่นนั้นถ้าคิดดูตามความเห็นธรรมดาในสมัยนี้ก็ดูเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรง แต่อันที่จริงเป็นของซึ่งแต่ก่อนเขาไม่ถือ หรือเป็นของให้อภัยแก่ผู้แต่งนิราศ เพราะการกล่าวเป็นห่วงเมียว่าเกรงชายอื่นจะมาลอบลักเป็นชู้นั้น เป็นวิธีกล่าวยกยอความงามเลิศลอยซึ่งเป็นที่ต้องตาชายทั้งหลาย ใครเห็นก็ต้องอยากได้ เหมือนถ้ากล่าวเป็นห่วงเพ็ชร์ว่ากลัวถูกโขมย ก็หาเป็นการดูหมิ่นเพ็ชรไม่ ที่พูดเช่นนี้ฟังเหมือนหนึ่งหาว่าหญิงไม่ใช่คน แต่ถ้าจะพูดตามทางที่เขาแต่ง หญิงก็ไม่ใช่คนจริง ๆ เขาแต่งประสงค์จะเชิดความงามให้เด่น แลความงามนั้นเป็นคุณนามถึงจะมีในตัวมนุษย์ก็หาใช่มนุษย์ไม่ ตามนัยเช่นนี้อาจกล่าวต่อไปได้อีกชั้นหนึ่งว่า เมียที่กล่าวในนิราศนั้นเป็นของไม่จพเป็นจะต้องมีตัวมีตน เป็นแต่ความคิดเป็นเครื่องนึกขึ้นสำหรับช่วยให้แต่งโคลงไพเราะเท่านั้น เมียจริง ๆ อาจเป็นคนแก่หรือหญิงปราศจากความงาม ซึ่งถ้านึกถึงจริง ๆ ก็ไม่เป็นเครื่องนำปัญญาให้กาพย์กลอนไพเราะเกิดขึ้นได้ บางทีเมื่อเวลาไปจากบ้านนั้นเมียไปด้วย หรือนิราศนั้นแต่งเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว หรือแต่งสำเร็จเมื่อกลับถึงบ้านแล้วช้านานก็เป็นได้ ข้าพเจ้าเองก้เคยแต่งโคลงนิราศเมื่อไม่ได้ไปไหนเลย แลในเวลานั้นเมียก็ยังไม่มี ข้อที่ไม่ได้ไปไหนแลไม่มีเมียนั้น หาเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้แต่งโคลงนิราศไม่ ที่นำมากล่าวเช่นนี้เพื่อจะแสดงว่าเมียในนิราศนั้นเป็นความคิดเท่านั้น ไม่ใช่คนเลย


วิธีแต่งนิราศ เมื่อกล่าวเป็นห่วงเมียแล้ว ถึงตอนเดิรทาง เมื่อไปถึงไหนก็เอาชื่อตำบลนั้น หรือที่นั้นมากล่าวเทียบโยงไปให้ถึงเมียจนได้ ตอนเดิรดงเมื่อกล่าวถึงต้นไม้แลสัตว์ต่าง ๆ ก็เกลือกเอาแต่ต้นไม้แลสัตว์ซึ่งพอจะพูดวกเข้าหาเมียได้อย่างเดียวกัน วิธีแต่งเช่นนี้จะว่ายากก็ไม่ใช่จะว่าง่ายก็ไม่เชิง ที่ว่าไม่ยากนั้นก็เพราะความเปรียบนั้นมักจะนึกได้ในทันที แลไม่จำเป็นจะพูดถึงอะไรที่จะวกเข้าเปรียบกับนางไม่ได้ วิธีเปรียบนั้นเป็นต้นว่านกแก้วหรือต้นแก้วก็เปรียบว่านางคือแก้ว หรือแก้วตาแก้วใจ แล้วเลยใช้แก้วแปลว่า นางทีเดียว ฉะนี้เป็นตัวอย่าง ส่วนที่ว่าไม่ง่ายก็เพราะการเปรียบเช่นนั้นเขาทำกันมามากแล้ว ผู้แต่งใหม่จำจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เหมือนของเก่า ต้องให้ดีกว่า หรืออย่างนั้ยก็ไม่ให้เลวกว่า มิฉะนั้นก็ขายหน้า


กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงพระนิพนธ์ก็ทำนองนี้ แต่ไม่ทรงดำเนิรตามรอยทางเก่าที่เอาอย่าง (มักใช้ว่า "ล้อ") กันเป็นทอด ๆ เหมือนนรินทร์อินเอาอย่างศรีปราชญ์ ๆ เอาอย่างคนอื่นต่อขึ้นไปอีก เช่นรำพึงว่าจะฝากนางกับใครดี ฝากพระอินทร์ก็เกรงจะเป็นชู้ ฝากนั่นก็เกรงอย่างนั้น ฝากนี่ก็เกรงอย่างนี้ ในที่สุดก็ฝากนางกับใจนางเอง ดังนี้เป็นต้น กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงระบุชื่อนิราศซึ่งนิยมกันว่าดี คือ กำสรวญทวาทศมาส นิราศของพระพิพิธสาลี (เดิมเป็นพระศรีภูมิปรีชา ผู้แต่งอุเทนคำฉันท์ พระสุธนคำฉันท์ แลสูตรธนูคำฉันท์) นิราศพระยาตรัง แล นิราศนรินทร์ แต่ทรงกล่าวว่า "ไป่ลักเทีบยคำบุราณอื่นอ้าง" ซึ่งความจริงโดยประการที่มิได้ทรงเพ่งเล็งเอาอย่างใครเป็น แต่ทรงเดิรรูปตามแบบนิราศ และถ้าไม่ทรงเช่นนั้นก็ไม่เป็นนิราศ


ในการชำระครั้งนี้ได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งว่า เมื่อกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงพระนิพนธ์นิราศนี้แล้ว ได้ทรงนำถวายพระอาจารย์ คือ สมเด็นกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ให้ทอดพระเนตรแลทรงแก้ไข สมเด็จกรมพระปรมานุชิตทรงอ่านแล้ว จะได้ทรงแก้บ้างหรือไม่ไม่ทราบ ปรากฏแต่ว่าในสมุดไทยตัวดินสอขาวของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท (ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ในหอสมุดวชิรญาณ) นั้น เขียนเป็นตัวบรรจงฝีมืองาม แต่มีรอยขีดฆ่าบรรจงแล้วเขียนตัวหวัดแก้เปลี่ยนไปหลายแห่ง ที่แก้นั้นดีขึ้นกว่าเดิมทุกแห่ง ผู้แก้จะเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิต หรือกรมหลวงวงษาธิราชสนิทจะทรงเองก็ทราบไม่ได้ ทราบได้แต่ว่า เมื่อสมเด็จกรมพระปรมานุชิตทรงอ่านตลอดแล้ว ก็ทรงโคลงเติมลงข้างท้ายว่า


๏ กรมวงษาสนิทผู้ ปรีชา เชี่ยวแฮ
เรียบรจเรขกถา เพราะพร้อง
เนืองเนกคณเมธา ทุกทั่ว อ่านเอย
ควรจักยอยศซร้อง แซ่ซั้นสรรเสริญ ฯ


การชำระหนังสือนี้ เมื่อแรกได้ใช้ฉบับที่พิมพ์ในหนังสือ "วชิรญาณ" ใน พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นต้นฉบับ แต่เมื่ออ่านตรวจไปได้หน่อยหนึ่งก็เห็นได้ว่ามีผิดจนเสียความไปหลายแห่ง ที่สงสัยว่าผิดเพราะอ่อนไปกว่าฝีโอษฐ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่ไม่ถึงเสียความก็มี จึงได้ให้หยอบฉบับสมุดไทยที่กล่าวมาแล้วออกมาสอบ ก็ได้ความที่ถูกแลดังที่คาดโดยมาก เห็นได้ทันทีว่าฉบับสมุดไทยนั้นเป็นฉบับดี ตลอดจนตัวสกดแลการันต์ก็ไม่พลัด ๆ เพลิด ๆ เหมือนหนังสือสมุดไทยโดยมาก ตัวสกดแลการันต์นั้นใช้เหมือนกับที่เราเคยใช้กันก่อนสมัยปัจจุบัน เข้าใจว่ากรมหลวงวงษาธิราชสนิทคงจะทรงใช้อย่างนั้น ผู้ชำระเห็นว่าเป็นความเปลี่ยนแห่งตัวสกดซึ่งเดิรเป็นหลั่นแต่โบราณมาจนปัจจุบันนั้น เป็นของซึ่งผู้ศึกษาพึงสังเกต เพราะฉะนั้นเมื่อได้ต้นฉบับที่เรียบร้อยถูกต้องตามวิธีซึ่งผู้มีความรู้เขียนกันมาในกรุงเทพ ฯ เมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ก็ควรพิมพ์ไว้ให้เห็นเป็นเครื่องเทียบกับวิธีตัวสกดในสมัยนี้ เหตุดังนั้นจึงได้ชำระหนังสือนิราศเล่มนี้ ตามที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเขียน แต่ในที่บางแห่งซึ่งผู้ชำระมีคำจะกล่าว ก็หมายเลขแลเขียนกล่าวลงไว้เป็นตัวหนังสือเล็กในเบื้องล่างแห่งน่านั้น ๆ

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่ง โคลงจินดามณี แต่งเป็น โคลงสี่สุภาพ โคลงกรทู้ กาพย์สุรางคนางค์ และกาพย์ยานี ให้ความรู้ภาษาไทย จริยาวัตรของโอรส และข้อปฏิบัติในการรับราชการ เช่นโคลงกระทู้ฉิบหายวายชนม์ เป็นต้น
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่ง โคลงนิราศพระประธม และ โคลงนิราศสุพรรณ และกลอนกลบทจารึกวัดพระเชตุพนฯด้วย คือ เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น