การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา
ลักษณะการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเมื่อสิ้นสุดสมัยสุโขทัย การปกครองของประเทศก็เปลี่ยนไปจากการปกครองพ่อปกครองลูก มาเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาจากขอม และขอมก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง กษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช นั้น ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดและเต็มที่ เมื่อมีพระบรมราชโองการใดๆ ใครจะวิจารณ์หรือโต้แย้งไม่ได้ เพราะฐานะของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเปรียบเสมือนสมมติเทพ ไม่ใช่อยู่ในฐานะของพ่อดังเช่นสมัยสุโขทัย การปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ถือว่า กษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน หรือแม้กระทั่งชีวิต พระราชอำนาจของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีมากมาย แต่ก็มีขอบเขตภายใต้หลักธรรมของพระพุทธศาสนา
ระบบการปกรองของกรุงศรีอยุธยาตอน ต้น
ระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้รับแบบอย่างมาจากสุโขทัย และจากขอมนำมาปรับปรุงใช้ ลักษณะการปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็น
1. การปกครองส่วนกลาง
คือการปกครองภายในราชธานี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมแบบแผนที่ได้รับมาเรียกว่า “จตุสดมภ์” ซึ่งประกอบด้วย
1.1 เมืองหรือเวียง
มีขุนเมือง เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ปกครองดูแลท้องที่และราษฎร ดูแลความสงบเรียบร้อย ปราบปรามโจรผู้ร้าย และลงโทษผู้กระทำความผิด
1.2 วัง
มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาพิพากษาคดีต่าง ของราษฎรด้วย
1.3 คลัง
มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เก็บและรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอันได้จากอากร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศอีกด้วย
1.4 นา
มีขุนนา เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่นา รักษาเสบียงอาหารสำหรับทหาร ออกสิทธิที่นา และมีหน้าที่เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง คือใครทำนาได้ก็ต้องแลกเอาเข้ามาส่งฉางหลวง
2. การปกครองส่วนภูมิภาค
คือการปกครองพระราชอาณาเขต กรุงศรีอยุธยาได้แบบแผนมาจากครั้งกรุงสุโขทัย โดยการแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
2.1 หัวเมืองชั้นใน
มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง 4 ทิศ เรียกว่า เมืองลูกหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากราชธานี เป็นระยะทางเดิน 2 วันทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรีทิศใต้ คือ เมืองพระประแดงทิศตะวันออก คือ เมืองนครนายกทิศตะวันตก คือ เมืองสุพรรณบุรีนอกจากนั้น ยังมีหัวเมืองชั้นในตามรายทางที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองลูกหลวง เช่น เมืองปราจีน เมืองพระรถ(เมืองพนัสนิคม) เมืองชลบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เป็นต้น และถ้าเมืองใดเป็นเมืองสำคัญก็จะส่งเจ้านายจากราชวงศ์ออกไปครอง
2.2 เมืองพระยามหานคร หรือหัวเมืองชั้นนอก
คือ เมืองใหญ่ที่อยู่ห่างจากหัวเมืองชั้นในออกไปทิศตะวันออก คือ เมืองโคราชบุรี(นครราชสีมา) เมืองจันทบุรีทิศใต้ คือ เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา และเมืองถลางทิศตะวันตก คือ เมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย เมืองเชียงกราน
2.3 เมืองประเทศราช หรือเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สันนิษฐานว่า คงจะมีแต่เมืองมะละกากับเมืองยะโฮร์ทางเแหลมมลายูเท่านั้น ส่วนกัมพูชานั้นต้องปราบกันอีกหลายครั้ง จึงจะได้ไว้ในครอบครอง และในระยะหลังต่อมาสุโขทัยก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาด้วยเมืองประเทศราช มีเจ้านายของตนปกครองตามจารีตประเพณีของตน แต่ต้องกราบบังคมทูลให้กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้ง
การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง 1991 - 2231
การปกครองเริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา หลังจากที่ได้ผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ
1. จัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
2. แยกกิจการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกจากกัน
การปกครองส่วนกลาง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดฯให้มีตำแหน่งสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหาร นอกจากนี้ยังได้ทรงตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นมา อีก 2 กรม คือ
กรมมหาดไทย มีพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นสมุหนายก มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประเทศ
กรมกลาโหม มีพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ
นอกจากนี้ใน 4 กรมจตุสดมภ์ที่มีอยู่แล้ว ทรงให้มีการปรับปรุงเสียใหม่ โดยตั้งเสนาบดีขึ้นมาควบคุมและรับผิดชอบในแต่ละกรมคือ
กรมเมือง (เวียง) มีพระนครบาลเป็นเสนาบดี
กรมวัง มีพระธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี
กรมคลัง มีพระโกษาธิบดีเป็นเสนาบดี
กรมนา มีพระเกษตราธิการเป็นเสนาบดี
การปกครองส่วนภูมิภาค
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเลิกการปกครองแบบเดิมทั้งหมด แล้วจัดระบบใหม่ดังนี้
1 .) หัวเมืองชั้นใน ยกเลิกเมืองหน้าด่านแล้วเปลี่ยนเป็นเมืองชั้นใน มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้ปกครองเมืองเหล่านี้เรียกว่า ผู้รั้ง พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้แต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่ผู้รั้งเมือง ต้องรับคำสั่งจากในราชธานีไปปฏิบัติเท่านั้นไม่มีอำนาจในการปกครองโดยตรง
2) หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เป็นหัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานีออกไป จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรี โท เอก ตามขนาดและความสำคัญของหัวเมืองนั้น เมืองเหล่านี้มีฐานะเดียวกันกับหัวเมืองชั้นใน คือขึ้นอยู่ในการปกครองจากราชธานีเท่านั้น
3) หัวเมืองประเทศราช ยังให้มีการปกครองเหมือนเดิม มีแบบแผนขนบธรรมเนียมเป็นของตนเอง มีเจ้าเมืองเป็นคนในท้องถิ่นนั้น ส่วนกลางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในด้านการปกครอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย
การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งการปกครองเป็นหน่วยย่อย โดยแบ่งเป็น
1) บ้าน หรือหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นหัวหน้า จากการเลือกตั้งจากหลายบ้าน
2) ตำบล เกิดจากหลายๆ หมู่บ้านรวมกันมีกำนันเป็นหัวหน้ามีบรรดาศักดิ์เป็น พัน
3) แขวง เกิดจากหลายๆ ตำบลรวมกัน มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง
4) เมือง เกิดจากหลายๆ แขวงรวมกัน มีผู้รั้งหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครอง
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองทางด้านการทหาร ได้แก่
1. การจัดทำสารบัญชี (หรือสารบาญชี) เพื่อให้ทราบว่ามีกำลังไพร่พลมากน้อยเพียงใด
2. สร้างตำราพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นตำราที่ว่าด้วยการจัดทัพ การเดินทัพ การตั้งค่าย การจู่โจมและการตั้งรับ ส่วนหนึ่งของตำราได้มาจากทหารอาสาชาวโปรตุเกส
3. การทำพิธีทุกหัวเมือง ซักซ้อมความพร้อมเพรียงเพื่อสำรวจจำนวนไพร่พล (คล้ายกับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลในปัจจุบัน)
span
การปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย
สมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มในสมัยพระเพทราชา สมัยนี้ยึดการปกครองแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปรับปรุงแต่ได้แบ่งแยกอำนาจสมุหกลาโหมและสมุหนายกเสียใหม่ คือ
สมุหกลาโหม
- ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน
สมุหนายก
- ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือนรูปแบบการปกครอง
ของอยุธยาใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ ได้แยกกิจการฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน แต่การกำหนดอำนาจบังคับบัญชาดูแลกิจการทั้งสองฝ่ายตามเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจของขุนนางด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์และแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายต่างๆ ดังนี้
- หัวเมืองฝ่ายเหนือ ขึ้นตรงต่อสมุหนายก
- หัวเมืองฝ่ายใต้ ขึ้นตรงต่อสมุหพระกลาโหม
- หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกรมคลัง
แบบฝึกหัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น